ภาคอีสาน

ภาคอีสาน (มาจากภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤต ऐशान aiśāna แปลว่า “ตะวันออกเฉียงเหนือ”)[1] หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่บนแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร มีแม่น้ำโขงกั้นประเทศลาวทางทิศเหนือและตะวันออกของภาค ทางทิศใต้มีเทือกเขาพนมดงรักกั้นประเทศกัมพูชาและภาคตะวันออกของประเทศไทย และมีเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นแนวกั้นทางตะวันตกแยกจากภาคกลาง

ภาคอีสานยังมีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศไทย ประมาณ 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือมีเนื้อที่ร้อยละ 33.17 เทียบได้กับหนี่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยได้จัดว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เทือกเขาที่สูงที่สุดในภาคอีสานคือ ยอดภูลมโล ภูหลวง และภูกระดึง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของชาวอีสานในหลายจังหวัดด้วยกัน เช่น แม่น้ำห้วยหลวง แม่น้ำชี ลำตะคอง แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย แม่น้ำพรม แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม

ภาษาหลักของภาคนี้ คือ ภาษาอีสานซึ่งเป็นภาษาลาวสำเนียงหนึ่ง ส่วนภาษาไทยนิยมใช้กันแพร่หลายโดยเฉพาะในเมืองใหญ่และจังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันยังมีภาษาเขมรที่ใช้กันมากในบริเวณอีสานใต้ นอกจากนี้ มีภาษาถิ่นอื่น ๆ อีกมาก เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาโส้ ภาษาไทยโคราช ภาษากวย (ส่วย) เป็นต้น ภาคอีสานยังมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น เช่น อาหาร ภาษา ดนตรีหมอลำ ดนตรีกันตรึม ดนตรีเจรียง และศิลปะการฟ้อนรำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกี่จังหวัด อะไรบ้าง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย (เกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ) โดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 168,854 ตารางกิโลเมตร มีประชากร ณ สิ้นปี พ.ศ. 2555 จำนวน 21,701,335 คน ภาคอีสานเป็นภาคที่แห้งแล้งที่สุดของไทย แต่ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยที่เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติที่สำคัญอีกด้วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนจังหวัดทั้งหมด 20 จังหวัด โดยมีรายชื่อจังหวัดดังนี้
1. จังหวัดนครราชสีมา
2. จังหวัดอุบลราชธานี
3. จังหวัดขอนแก่น
4. จังหวัดบุรีรัมย์
5. จังหวัดอุดรธานี
6. จังหวัดศรีสะเกษ
7. จังหวัดสุรินทร์
8. จังหวัดร้อยเอ็ด
9. จังหวัดชัยภูมิ
10. จังหวัดสกลนคร
11. จังหวัดกาฬสินธุ์
12. จังหวัดมหาสารคาม
13. จังหวัดนครพนม
14. จังหวัดเลย
15. จังหวัดยโสธร
16. จังหวัดหนองคาย
17. จังหวัดหนองบัวลำภู
18. จังหวัดบึงกาฬ
19. จังหวัดอำนาจเจริญ
20. จังหวัดมุกดาหาร